การดูแลรักษาเฟอร์นิเจอร์โดยทั่วไป
1. เฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็ง เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้มะค่า ไม้ประดู่หรือไม้ตะเคียนทอง
โดยทั่วไปควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- สำหรับเฟอร์นิเจอร์ใหม่ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าขนหนูสะอาดนุ่มๆ ชุบน้ำผสมสบู่จางๆเช็ดให้สะอาดทุกซอกทุกมุมก็เพียงพอ (อย่าใช้น้ำมาก เพราะจะทำให้ผิวเป็นรอยด่าง) และหลังจากการเช็ดแล้วต้องผึ่งแล้วทิ้งไว้แห้งโดยเร็วที่สุดเสมอ แต่สำหรับเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษให้เช็ดด้วยผ้าฝ้ายหรือผ้าขนหนูสะอาดแบบแห้งๆเช็ดให้สะอาดทุกซอกทุกมุม หรือปัดฝุ่นด้วยไม้ขนไก่จะดีกว่า
- ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ออกมาขายด้วย ทั้งแบบสเปรย์และแบบครีม ซึ่งใช้ง่าย มีกลิ่นหอม ทั้งยังบำรุงผิวไม้ไปพร้อมกับการทำความสะอาด แต่อย่าใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของแอมโมเนียหรือแอลกอฮอลล์กับไม้เด็ดขาด หรืออาจใช้น้ำยาขัดเงาแบบสำเร็จรูปฉีด แล้วทิ้งให้แห้ง
- หากมีร้อยเปื้อนมากๆให้ทำการขัดออกด้วยกระดาษทราย ทาด้วยขี้ผึ้ง แล้วขัดออกด้วยผ้าแห้ง
- โดยทั่วไปควรหลีกเลี่ยงจุดวางที่มีแดดแรงๆ เพราะจะทำลายสีของไม้ หลังจากทำความสะอาดแล้วให้ลงน้ำมันบำรุงผิวอีกที
- คราบสกปรกจากน้ำ (หลังจากวางแก้วน้ำบนโต๊ะไม้นานๆ) ก็เป็นปัญหากวนใจ วิธีแก้ไขคือ เช็ดน้ำให้แห้งสนิท จากนั้นใช้ผ้าสะอาดแตะ มายองเนส ถูลงบนรอยนั้น รอยด่างเป็นดวงๆจะจางไป และถ้าเนื้อไม้มีรอยขีดข่ว น ให้ลองใช้ยาขัดรองเท้าสีใกล้เคียงกับเฟอร์นิเจอร์ทาลงบนรอยนั้น
2. การดูแลรักษาเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้ออ่อน (เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่หรือหวาย)
โดยทั่วไปควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ใช้แปรงหรือไม้กวาดขนไก่ปัดฝุ่นออก
- ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าขนหนูสะอาดนุ่มๆ ชุบน้ำผสมสบู่จางๆเช็ดให้สะอาดทุกซอกทุกมุมก็เพียงพอ (อย่าใช้น้ำมาก เพราะจะทำให้ผิวเป็นรอยด่าง) และหลังจากการเช็ดแล้วต้องผึ่งแล้วทิ้งไว้แห้งโดยเร็วที่สุดเสมอ
- ควรฉีดยาฆ่าแมลงเพื่อป้องกันมอด แล้วนำมาตากแดด
- ไม่ควรนำมือที่เปียกหรือวางวัสดุที่มีความชื้นบนพื้นผิวของเฟอร์นิเจอร์ เพราะจะทำให้เกิดรอยด่าง แต่ถ้ามีรอยเปื้อนมากๆ ให้ทำการเช็ดด้วยน้ำส้มสายชูกับน้ำอุ่นให้ทั่ว แล้วขัดด้วยขี้ผึ้ง
เทคนิคการซ่อมแซมและทำสีเฟอร์นิเจอร์ไม้
เฟอร์นิเจอร์ไม้ ถ้าหากเราทิ้งไว้นานๆ อาจจะมีเชื้อราเกิดขึ้น มีรอยแตกแยก โก่ง งอ หรือสีไม้เปลี่ยนไป ดังนั้นเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเราควรนำเฟอร์นิเจอร์ไม้มาซ่อมและทำสีใหม่เพื่อยืดอายุการใช้งาน โดยมีขั้นตอนหลักๆดังนี้
1. ทำชิ้นงานให้เรียบเนียน โดยการขัดชิ้นงานด้วย
1.1 กระดาษทรายเบอร์ 80-100 ก่อน
1.2 จากนั้นให้เปลี่ยนเบอร์กระดาษทรายเป็นเบอร์ 150 เพื่อให้ผิวงานเรียบขึ้น (ในการเปลี่ยนเบอร์กระดาษทราย เราควรมีการดูดฝุ่นที่เกาะที่ผิวงานออกก่อนด้วย เพราะมิฉะนั้นเศษทรายของกระดาษเบอร์เก่า อาจจะมีผลทำให้ชิ้นงานเป็นรอยได้ และในการขัดควรใช้กระดาษทรายพันกับไม้เพื่อให้กระดาษเรียบไปกับชิ้นงาน
1.3 และสุดท้ายให้เปลี่ยนเป็นกระดาษทรายเบอร์ 200-220 เพื่อเป็นการขัดครั้งสุดท้าย และหลังจากที่ผ่านการขัดกระดาษทรายเบอร์สุดท้ายแล้ว จะต้องกำจัดฝุ่นออกให้หมดโดยการใช้แปลงปัด , ผ้าเช็ด , ดูดฝุ่น หรือ ใช้ลมเป่า
2. อุดรูร่องเสี้ยนไม้หรือเรียกว่าทำการโป๊ว โดยจะใช้ผงดินสอพองผสมน้ำ ผสมสีฝุ่น ต้องผสมให้สีใกล้เคียงกับสีผิวไม้ที่เราจะอุดด้วย และถ้าหากต้องการเพิ่มความสามารถในการยึดติดกับเนื้อไม้ให้มากขึ้น ให้ใช้น้ำมันวาร์นิช ผสมลงไปด้วยเล็กน้อย เมื่อผสมส่วนผสมได้ที่แล้วให้นำไปใส่ถุงพลาสติกแล้วรัดด้วยหนังยาง เพื่อที่เราจะได้แบ่งออกมาได้ใช้ทีละน้อย
วิธีดูแลและบำรุงรักษาเฟอร์นิเจอร์ไม้ตะเคียนทอง
เนื่องจากไม้ตะเคียนทองเป็น วัสดุทางธรรมชาติ ดังนั้นย่อมมีการชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา มีปัจจัยหลายอย่างทั้งสภาพแวดล้อม แสงแดด ความชื้น และการกัดกินของแมลงหรือปลวกที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้เนื้อไม้ตะเคียนทองมี การชำรุดเสียหาย
ดังนั้นจึงต้องมีการดูแลรักษาไม้ตะเคียนทองที่ถูกต้อง เพื่อให้ไม้ตะเคียนทองที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ไม้ตะเคียนทองที่แปรรูปออกจากโรงงานไม้นั้นตอนแรกมักดูไม่มีความสวยงามสักเท่า ไหร่ การทำสีและตกแต่งพื้นผิวของเนื้อไม้ตะเคียนทองจึงมีความจำเป็นอย่างมากในสมัยก่อนช่างไม้ได้นำเอาวัสดุธรรมชาติ เช่น ขี้ผึ้งและน้ำมันจากไม้บางชนิด มาใช้ตกแต่งผิวไม้ตะเคียนทอง
แต่ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นวัสดุทั้งจากทางธรรมชาติ และจากการสังเคราะห์ที่ดีนำมาใช้เคลือบผิวและตกแต่งสี ทำให้เพิ่มคุณค่าทั้งความงามและสามารถทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยได้ ดียิ่งขึ้น ขั้นตอนในการทำและตกแต่งผิวไม้ตะเคียนทองจะต้องทำด้วยความพิถีพิถัน พื้นผิวที่รองไม้ตะเคียนทองจะต้องสะอาด ขัดผิวอย่างดี ปราศจากรอยตำหนิ ขั้นตอนการทำสีและตกแต่งผิวมีหลายแบบ ดังนี้
1. การย้อมสีด้วยน้ำยาวู๊ดสเตน เพื่อป้องกันแสงแดด และน้ำซึมเข้าเนื้อไม้ตะเคียนทอง
2. โดยก่อนจะทาน้ำยาต้อง
2.1เตรียมพื้นผิวให้เรียบด้วยกระดาษทราย
2.2 นำดินสอพองมีลักษณะดินสีขาวเป็นก้อนหรือเป็นผง ผสมกับน้ำเพื่อให้นิ่มใช้อุดร่องเสี้ยนหรือลงพื้น
2.3 นำสารกันซึมหรือซีลเลอร์ ใช้เคลือบรองพื้นวัสดุที่มีรูพรุน หรือใช้เคลือบวัสดุที่อาจปล่อยสารบางประเภท ออกมาทำให้ฟิล์มของวัสดุเคลือบเสียหาย สารกันซึมถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่แต่เดิมช่างใช้เชลแล็กเป็นตัวเคลือบผิว ฟิลเลอร์ ทำหน้าที่คล้ายดินสอพองอุดร่องไม้ตะเคียนทองและอุดรอยแตกต่างๆ สามารถผสมกับสีย้อม สีฝุ่น ดินสี เพื่อให้ได้สีตามต้องการ
3. เมื่อเตรียมพื้นผิวได้ดีแล้วให้เลือกใช้วัสดุเคลือบผิวที่จะทำให้ไม้ตะเคียนทอง สวยงามและทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ เพื่อขับลายไม้ตะเคียนทอง คือ
3.1 แลกเกอร์ มีทั้งชนิดเงาและด้าน สามารถใช้งานง่าย ทนต่อสภาพอากาศทั่วไปได้เป็นอย่างดี และทนต่อการขูดขีด
3.2 เชลแล็ก เป็นน้ำยาทาไม้ตะเคียนทองชนิดหนึ่งให้ความสวยงามทนทาน
3.3 วาร์นิช หรือน้ำมันชักเงา ใช้ทาชิ้นงานไม้ตะเคียนทองเพื่อให้เกิดความเงางาม ใส สวยงาม มักใช้กับเฟอร์นิเจอร์ไม้ตะเคียนทอง เครื่องเรือนไม้ตะเคียนทอง
3.4 แต่ถ้าไม่ชอบให้ดูเป็นฟิล์มเคลือบก็ใช้น้ำมันบำรุงรักษาผิว เช่น Teak Oil หรือ Oil Stain ที่เหมือนเป็นโลชั่นสำหรับไม้ แต่ต้องทาเป็นระยะๆ (ทุก 3 เดือน)
4.เมื่อทาน้ำยาชนิดต่างๆ จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรที่จะนำไม้ตะเคียนทองไปตากแดดให้แห้งสนิท เพื่อช่วยเพิ่มความมันวาวและความแข็งแรงทนทานของเนื้อไม้
No comments:
Post a Comment