Tuesday, March 15, 2016

อุปสงค์

อุปสงค์ (Demand)
               อุปสงค์ในวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Demand หมายถึง ความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการ ณ ระดับราคาต่าง ๆ ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่
โดยอุปสงค์จะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่
1. ความต้องการที่จะซื้อ หรือ Willing to buy
2. ความสามารถในการจ่ายเพื่อซื้อ หรือ ability to pay

              กฎของอุปสงค์คือ “หากกำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่ อุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้าจะลดลง เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้นหรือสูงขึ้น และอุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้าจะเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าถูกลง”

              จากความสัมพันธ์ดังกล่าว   โดยปกติ   เส้นอุปสงค์ จึงมีลักษณะที่ลาดลงจากซ้ายไปขวา (Downward slope) และมีความชันของเส้นเป็นค่าลบ ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการซื้อสินค้ากับราคาในทิศทางตรงกันข้าม แสดงเป็นตารางอุปสงค์ได้ดังนี้

ตารางที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และราคาสินค้า
ราคา (บาท/หน่วย)10090807060 5040
อุปสงค์/ความต้องการ 305070 98115 150 180

            จะสังเกตเห็นว่า ความสัมพันธ์จะเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน คือ เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น ความต้องการหรืออุปสงค์ก็ลดน้อยลง ซึ่งเมื่อนำมาแสดงในรูปของกราฟ จะเป็นดังรูปที่ 1 และเมื่อนำอุปสงค์ของแต่ละคนมารวมกัน ก็จะเป็นอุปสงค์ของตลาด ณ ระดับราคาต่าง ๆ

รูปที่ 1 เส้นอุปสงค์
 
ปัจจัยที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์ได้แก่
1. ราคาของสินค้า เมื่อราคาแพงขึ้น ความต้องการจะลดลง
2. รายได้ของผู้บริโภค กล่าวคือ ในกรณีที่เป็นสินค้าปกติ (Normal goods) เมื่อผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะบริโภคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรายได้เพิ่มขึ้น แล้วผู้บริโภคซื้อสินค้านั้นลดลง แสดงว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ (Inferior goods) เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งอันที่จริงอาจจะไม่ได้หมายถึง คุณภาพของสินค้าจริงๆ ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ดี แต่เป็นเรื่องของการรับรู้ของผู้บริโภคแต่ละคนที่อาจมีมุมมองแตกต่างกันไป เช่น ถ้ารวยขึ้นก็ไม่อยากกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาจหันไปกินอย่างอื่น เช่น ไก่ทอด แทน เป็นต้น
3. ราคาสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
              • สินค้าที่ใช้ทดแทนกัน    เช่น    กรณีเมื่อหมูราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคจะบริโภคหมูลดลง ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็อาจจะหันไปบริโภคไก่ หรือ ปลา หรือสัตว์น้ำอื่น ๆ แทน
              • สินค้าที่ใช้ประกอบกัน    เช่น    กรณีที่ราคาน้ำมันแพงขึ้น ความต้องการซื้อรถยนต์ก็จะลดน้อยลงด้วย เป็นต้น
4. รสนิยมของผู้บริโภค เช่น หากรสนิยมในการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้ความต้องการสินค้าที่เคยใช้อยู่เปลี่ยนแปลงไป
5. การคาดการณ์รายได้ในอนาคต เช่น หากผู้บริโภครู้ว่าจะได้มีการปรับขึ้นเงินเดือน ก็อาจจะบริโภคล่วงหน้าไปก่อน ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าสูงขึ้น
6. ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ฤดูกาล จำนวนประชากร ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์              หากเกิดจากราคาของสินค้านั้นๆ  เอง (ปัจจัยกำหนดอุปสงค์ข้อ 1.) การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นบนเส้นอุปสงค์เส้นเดิม (Move along the demand curve) แต่หากเกิดปัจจัยอื่น โดยที่ราคาของสินค้านั้น ๆ คงที่ การเปลี่ยนแปลงจะเลื่อนเส้นอุปสงค์ไปทางซ้าย หรือทางขวาของเส้นเดิมทั้งเส้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เข้ามากระทบว่าจะส่งผลทางใด (Shift in demand curve) ดังแสดงในรูปที่ 2 เช่น หากรายได้ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพราะได้รับโบนัส แม้ราคาสินค้าจะไม่เปลี่ยนแปลงเช่นยัง 60 บาทเท่าเดิม แต่ผู้บริโภคก็สามารถซื้อได้เพิ่มขึ้นจาก 120 หน่วย เป็น 170 หน่วย (จากเส้น D1 เป็นเส้น D2 ในรูปที่ 2) เป็นต้น

รูปที่ 2 การเปลี่ยนแปลงเส้นอุปสงค์ แบบเลื่อนไปทั้งเส้น จากปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา
 

No comments:

Post a Comment