Tuesday, March 15, 2016

อุปทาน

  อุปทาน (Supply)
           อุปทานในวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Supply หมายถึง ความต้องการจะขายสินค้าหรือบริการของผู้ขาย ณ ระดับราคาต่าง ๆ ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่

          โดยอุปทานจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่
          1. ความต้องการที่จะขาย หรือ Willing to sell
          2. ความสามารถในการผลิต หรือ ability to produce

          กฎของอุปทานคือ “หากกำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่ อุปทานหรือความต้องการขายสินค้าจะลดลง เมื่อราคาสินค้าถูกลง และอุปทานหรือความต้องการขายสินค้าจะเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น”
          จากความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยปกติ เส้นอุปทาน จึงมีความชันของเส้นเป็นค่าบวก ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการขายสินค้ากับราคาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แสดงเป็นตารางอุปทานได้ดังนี้

ตารางที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุปทานและราคาสินค้า    
ราคา (บาท/หน่วย)10090807060 5040
อุปสงค์/ความต้องการ 270240200170  14011070



จะสังเกตเห็นว่า ความสัมพันธ์จะเป็นไปในทิศทางที่เดียวกัน กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น ความต้องการจะขายหรืออุปทานก็มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเมื่อนำมาแสดงในรูปของกราฟ จะเป็นดังรูปที่ 3 โดยเมื่อนำอุปทานของผู้ขายแต่ละรายมารวมกัน ก็จะเป็นอุปทานของตลาด ณ ระดับราคาต่าง ๆ

รูปที่ 3 เส้นอุปทาน
 

ปัจจัยที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงในอุปทานได้แก่
1.    ราคาของสินค้า เมื่อราคาแพงขึ้น ความต้องการขายก็มากขึ้นด้วย
2.    ราคาของปัจจัยการผลิตหรือต้นทุนการผลิต เช่น หากต้นทุนค่าขนส่งแพงขึ้นเพราะราคาน้ำมันแพงขึ้น แต่ราคาสินค้าที่นำไปวางขายไม่เปลี่ยนแปลง จะทำให้ผู้ผลิตอยากขายสินค้าในปริมาณที่น้อยลง เพราะได้กำไรน้อยลง
3.    ราคาสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีที่ราคาสินค้าอื่นแพงขึ้น อาจมีผลทำให้อุปทานของสินค้าชนิดที่ผลิตอยู่ลดลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น เมื่อราคาข้าวโพดแพงขึ้น คนที่เคยปลูกมันสำปะหลังอยู่ อาจหันไปปลูกข้าวโพดแทน และลดการปลูกมันสำปะหลังลง ซึ่งผลทำให้อุปทานของมันสำปะหลังสูงขึ้น ขณะที่อุปทานของข้าวโพดลดลง เป็นต้น
4.    เทคโนโลยีในการผลิตสินค้า เช่น หากมีการคิดค้นเทคโนโลยีในการผลิตให้ดีขึ้น ทำให้ผลิตได้ปริมาณสินค้ามากขึ้นด้วยต้นทุนเท่าเดิม จะทำให้ปริมาณการเสนอขายสินค้าเพิ่มขึ้นได้
5.    การคาดการณ์ในอนาคต เช่น หากผู้ผลิตหรือผู้ขายคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ก็เสนอขายสินค้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
6.    ปัจจัยอื่น เช่น ฤดูกาล ภาษีและเงินอุดหนุน จำนวนผู้ขาย และโครงสร้างตลาดสินค้า ฯลฯ

             การเปลี่ยนแปลงของอุปทาน             จะเกิดขึ้นในลักษณะคล้ายกันกับการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ กล่าวคือ หากเกิดจากราคาของสินค้านั้นๆ  เอง (ปัจจัยกำหนดอุปทานข้อ 1.) การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นบนเส้นอุปทานเส้นเดิม (Move along the supply curve) แต่หากเกิดปัจจัยอื่น โดยที่ราคาของสินค้านั้น ๆ คงที่ การเปลี่ยนแปลงจะเลื่อนเส้นอุปทานไปทางซ้าย หรือทางขวาของเส้นเดิมทั้งเส้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เข้ามากระทบว่าจะส่งผลทางใด (Shift in supply curve) ดังแสดงในรูปที่ 4 เช่น หากต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตสูงขึ้น ณ ระดับราคาขายสินค้าที่เท่าเดิม ผู้ขายจะเสนอขายสินค้าในปริมาณที่ลดลง เช่น ณ ระดับราคาสินค้า 60 บาทเท่าเดิม แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงทำให้เส้นอุปทานเลื่อนไปทางซ้ายของเส้นเดิมทั้งเส้น จาก S1 ไปยัง S2 แสดงถึงผู้ขายต้องการขายสินค้าน้อยลงจาก 140 หน่วย เหลือ 80 หน่วย เป็นต้น

รูปที่ 4 การเปลี่ยนแปลงเส้นอุปทาน แบบเลื่อนไปทั้งเส้น จากปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา
 

No comments:

Post a Comment